สไลด์โชว์

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรคนิ้วล็อก เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

โรค นิ้วล็อก หรือโรคนิ้วเหนี่ยวไกปืน (Trigger Finger) เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคน นิ้ว มีอาการเหยียดนิ้วบางนิ้วไม่ออกเหมือนโดนล็อก แต่กำมืองอนิ้วได้ เกิดขึ้นกับนิ้วใดก็ได้ มีโอกาสเป็นได้ทุกนิ้ว ผู้ป่วยบางคนอาจเป็น 2-3 นิ้วพร้อมกัน นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บนิ้วเวลางอนิ้ว กำมือ หรือเหยียดนิ้วไม่สุด ส่วนใหญ่มีอาการรุนแรงตอนตื่นนอนตอนเช้าหรืออากาศเย็น มักพบบ่อย ๆ ในผู้หญิง
               image001

สาเหตุของโรคนิ้วล็อก

เกิดจากการใช้งานของมืออย่างรุนแรง ในการบีบกำ หิ้วของหนัก ๆ ซ้ำ ๆ จนปลอกหุ้มเอ็นบวม หดรัด ขาดความยืดหยุ่น เป็นผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก

อาการของโรคนิ้วล็อก

เริ่มต้นเจ็บบริเวณฐานนิ้ว ขยับนิ้วมือเจ็บ การงอและการเหยียดนิ้วฝืด สะดุด จนเกิดอาการล็อก เหยียดนิ้วไม่ออก หรืองอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็งบวมชา นิ้วเกยกัน กำมือไม่ลง นิ้วโก่งงอ หากไม่ได้รับการรักษา นิ้วข้างเคียงก็จะยึดติดแข็ง ใช้งานไม่ได้ ซึ่งเปรียบเสมือนมือพิการ

ใครมีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อก

ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดในผู้หญิงกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่บ้านที่ใช้มือ ทำงานหนัก เช่น หิ้วถุงพลาสติกหนัก ๆ หิ้วตะกร้า จ่ายกับข้าว ช็อปปิ้ง หิ้วถังน้ำ บิดผ้า เป็นต้น
ในผู้ชายมักจะพบในอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ใช้จอบเสียม มีดฟันต้นไม้ ช่างใช้ไขควง สว่าน หิ้วยกของหนักเป็นประจำ เช่น คนขายแก๊ส คนส่งน้ำ หรือกระบะผลไม้ และมักพบบ่อยในคนที่ตีกอล์ฟรุนแรง

การรักษา

1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
ถ้าผู้ป่วยมีอาการยังไม่มากใช้วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัดอันประกอบด้วย
  • การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็น โดยทั่วไปให้รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและบวมของเส้นเอ็น ได้แก่ การแช่พาราฟิน การทำอัลตราซาวน์ ร่วมกับการออกกำลังเพื่อยืดเส้นเอ็นนั้น
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในเยื่อหุ้มเส้นเอ็นบริเวณตำแหน่งที่เป็น ซึ่งจะลดการอักเสบได้ดีแต่ไม่ควรทำมากกว่า 3 - 4 ครั้งต่อปี เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นขาดได้
2. การรักษาโดยการผ่าตัด
ทำในรายที่เป็นมานานๆ และการรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล โดยการตัดห่วงรอกที่เส้นเอ็นลอดผ่านออกไป
การดูแลตนเอง
หากมีอาการเจ็บตรงโคนนิ้วมือ เวลางอนิ้วมือแล้ว เหยียดนิ้วมีเสียงดังกิ๊ก หรือเวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดขึ้น เองไม่ได้ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เมื่อพบว่าเป็นโรคนิ้วล็อก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง และควรปฏิบัติดังนี้
  • ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่เป็นนิ้วล็อกเล่น อาจทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากขึ้นได้
  • ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่นจัดๆ และบริหารโดยการขยับมือกำแบเบาๆ ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
  • เมื่อ ต้องกำหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น ไม้กอล์ฟ ตะหลิวผัดกับข้าว ควรใช้ผ้าหรือฟองน้ำพันรอบๆ หรือใช้ถุงมือจับจะช่วยลดแรงกดหรือเสียดสีลง

โรคนิ้วล็อกในระยะรุนแรง

อาการยึดติดที่รุนแรง หรือนิ้วติดล็อก การฉีดยาก็จะไม่เกิดประโยชน์ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด การรักษาโรคนิ้วล็อกที่เป็นรุนแรง การผ่าตัดรักษาเป็นการรักษาตัวต้นเหตุของโรค การเจาะรักษาผ่านทางผิวหนังเป็นวิธีที่สะดวก ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่าย เพียงใช้เครื่องมืออุดฟันมาดัดแปลงกลึงปลายให้แหลมคมเป็นพร้าเล็ก ๆ เจาะผ่านผิวหนังเพื่อไปตัดเข็มขัดรัดเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ขวางการ เคลื่อนที่ของเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นวิ่งผ่านไปผ่านมาได้ ทำให้นิ้วมือกำเหยียดได้โดยปรกติภายในเวลา 5 นาทีโดยไม่เสียเลือด
อย่างไรก็ตาม โรคนิ้วล็อก หรือโรคเหนี่ยวไกปืน เป็นโรคที่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องระมัดระวังในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าหากเป็นแล้วก็ควรที่จะรีบเข้ารับการรักษาไม่ให้ลุกลามไปมากกว่าเดิม

การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการใช้มือทำงานที่มีลักษณะทำให้เกิดแรงกดหรือเสียดสีกับเส้นเอ็นแบบซ้ำซาก
  • การหิ้วของหนักๆ เช่น ถุงหนักๆ ถังแก๊ส ถังน้ำ กระเป๋า (ควรใช้รถเข็นลาก หรือใส่ถุงมือ)
  • การซักผ้า บิดผ้า (ควรใช้เครื่องซักผ้าแทน)
  • เวลา กำหรือจับอุปกรณ์ต่างๆ ควรใส่ถุงมือลดแรงกดหรือเสียดสี เช่น ใส่ถุงมือเวลาจับไม้ตีกอล์ฟ กรรไกรตัดกิ่งไม้ มีดตัดต้นไม่หรือดายหญ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น