สไลด์โชว์

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรคภัยใกล้ตัวที่มากับฝน

        


 เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทั้งมีฝนตกหนักหรือฝนพรำทั้งวัน ทำให้หลายคนมักเกิดอาการไม่สบาย และจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นสาเหตุของโรคภัยต่างๆ ได้ ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เรามาดูกันว่ามีโรคชนิดใดบ้างที่เราควรระวังในฤดูฝนเช่นนี้ 

          1. โรคที่ติดต่อทางน้ำและทางอาหาร เช่น  โรคอุจจาระร่วง โรคบิด อาหารเป็นพิษและตับอักเสบ เป็นต้น  มักมีสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมทั้งเกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การประกอบอาหาร ที่ใช้น้ำคลองที่ไม่สะอาดหรือน้ำไม่ผ่านการบำบัด ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ของคนหรือสัตว์  ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไว้นานข้ามมื้อหรือเกิน 6 ชั่วโมง  เนื่องจากอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหรือการ สร้างสารพิษของเชื้อโรค ทำให้อาหารบูดง่ายขึ้น 
          2. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ  เช่น  โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม เกิดจาการที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ติดเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ หรือในละอองเสมหะน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม ออกมาได้ง่าย  กลุ่มที่ควรระวังเป็นพิเศษได้แก่ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากถ้าป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดบวมจะเป็นอันตรายมากถึงชีวิตได้  ต้องสังเกตอาการ หากมีไข้ ไอ จาม หายใจเร็ว หรือหอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์ 
          3. โรคเลปโตสไปโรซิส  เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อยู่ในฉี่หนูหรือสัตว์เลี้ยง โดยเชื้อจะปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม ดินโคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ เมื่อคนเดินย่ำน้ำหรือเล่นน้ำนานๆ เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่ย่นๆ และ อ่อนนุ่ม รอยถลอกหรือบาดแผล ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-29 วัน อาการที่พบคือ มีไข้สูง เฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง  โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา   ตาแดง คอแข็ง  อาจมีผื่นที่เพดานปากหรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ระยะท้ายอาจมีตับและไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะทิ้งไว้นานอาจเสียชีวิตได้ 
          4. โรคไข้เลือดออก หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน จะมีอาการไข้สูง ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดงปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา บางรายปวดท้องอาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหลและเลือดออกตามไรฟัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก  ในรายที่มีอาการรุนแรง ขณะที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว จะเกิดภาวะช็อก  ผู้ป่วยจะซึมลง กระสับกระส่าย กระหายน้ำเหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตแปรปรวน บางรายมีอาการปวดท้องกะทันหัน อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เนื่องจากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง 
          5. โรคมาลาเรีย เกิดจากเชื้อโปรโตซัวโดยมียุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำโรค เมื่อถูกยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคกัดประมาณ 15-30 วันจะมีอาการป่วย เช่น ไข้หนาวสั่นเป็นระยะๆ ปวดเมื่อย เป็นต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ แต่หากทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่  ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง  ปอดบวมน้ำ  ไตวาย ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ 
          6. โรคตาอักเสบหรือตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้ออยู่ในน้ำตา และขี้ตา ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้ของร่วมกัน  นอกจากนี้ อาจเกิดตาอักเสบจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดล้างหน้า อาบน้ำ หรือถูกน้ำสกปรกที่มีเชื้อโรคกระเด็นเข้าตาหรือการใช้มือ แขน และเสื้อผ้าที่สกปรกเช็ดตา หรือขยี้ตา 
          7. โรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นตัวการนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน และโรคไข้สมองอักเสบซึ่งมียุงลายในทุ่งนาและตามชนบทเป็นตัวนำโรค รวมทั้งโรคมาลาเรีย ที่เกิดจากยุงก้นปล่องกัดผู้ที่เข้าไปในป่าเขา 
          นอกจากนี้ ยังมีโรคติดต่ออื่น ๆ ที่ต้องระวัง ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าและอันตรายจากสัตว์มีพิษต่าง ๆ ซึ่งโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนานๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก นอกจากนี้ ยังพบอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่องที่หนีน้ำเข้ามาอาศัยในบริเวณบ้าน 

คำแนะนำในการระวังโรคในฤดูฝน  
          1. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ 
          2. รับประทานอาหารที่สะอาดไม่มีตะกอน ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด 
          3. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร 
          4. ถ่ายอุจจาระในส้วม  ล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระ 
          5. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ 
          6. ล้างมือ และเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำ เมื่อถูกน้ำสกปรกควรใช้ผ้าแห้งเช็คให้แห้งอย่าปล่อยให้อับชื้น 
          7. อย่าให้ยุ่งกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 
          8. อย่าใช้ผ้าสกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา ระวังอย่าให้น้ำสกปรกเข้าตา 
          9. หากมีอาการเจ็บป่วย หรือผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า ให้รีบพบแพทย์ 
          10. ควรรับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ
ที่มา:http://www.classifiedthai.com/content.php?article=16890

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น