สไลด์โชว์

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรคใกล้ตัวของคนอดนอน

เสี่ยงลมชัก ไม่ควรมองข้าม


โรคลมชักเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยเป็นโรคลมชักประมาณ 6-7 แสนคน และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก ซึ่งอาการชักแต่ละครั้งจะทำให้สมองบกพร่องได้ และหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการชักเพียงครั้งเดียวก็ส่งผลร้ายต่อสมองแล้ว
   
ดร.นพ.โยธิน ชินวลักญช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทวิทยา โรคลมชักและการนอนหลับผิดปกติ โรงพยาบาลกรุงเทพ  ให้ความรู้ว่า อาการชักเกิดเนื่องจากความผิดปกติของ กระแสไฟฟ้าภายในสมอง ซึ่งมีการนำของกระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจรก่อให้เกิดอาการชักตามมา โดยอาการชักมีหลากหลายอาการแตกต่างกันไป ถ้ากระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองเป็นบางส่วน จะทำให้เกิดอาการชักเฉพาะที่โดยที่ยังรู้ตัวอยู่จะมีอาการชาหรือกระตุกของแขนขาหรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งซ้ำ ๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง หูแว่ว เห็นภาพหลอนหรือหัวใจเต้นผิดปกติ
   
ถ้ามีอาการเหม่อลอยหมดสติทำอะไรไม่รู้ตัว เรียกว่า อาการชักแบบเหม่อลอย ผู้ป่วยมักจะทำปากขมุบขมิบหรือเคี้ยวปากหรือมือเกร็งหรือขยับมือไปมา อาจคลำตามเสื้อผ้าอย่างไม่รู้ตัว เคลื่อนไหวแขนขาอย่างไร้จุดหมายโดยไม่รับรู้สิ่งรอบข้าง มีอาการเหม่อลอยนานไม่กี่วินาทีจนถึงหลาย ๆ นาที หลังจากนั้นผู้ป่วยมักมีอาการสับสน บางรายอาจมีอาการพูดไม่ได้หรือยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้อีกหลายนาทีกว่าจะตื่นเป็นปกติ
   
หากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมอง  ทั้งสองข้างหรือทั้งหมดจะ  ทำให้เกิดอาการชักที่เรียกว่าอาการชักทุกส่วน” หรือที่เราเรียกกันว่า โรคลมบ้าหมูเป็นชนิดที่พบบ่อย คือ มีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยจะสูญเสียการรู้สึกตัวทันทีและล้มลง กล้ามเนื้อจะแข็งแกร่งทั่วทั้งตัว ตาเหลือกค้าง น้ำลายฟูมปาก อาจจะกัดลิ้นตนเองหรือปัสสาวะราด ระยะเวลาในการชักจะนานประมาณ 2-3 นาที หลังชักมักเพลียและนอนหลับหลังจากหยุดชัก หรือชักแบบแน่นิ่งที่พบบ่อยในเด็กเล็ก อาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมาก ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้  จุดหมายเป็นระยะสั้น ๆ คล้ายกับเหม่อ ประมาณ 2-3 วินาที แล้วกลับมาทำสิ่งที่ค้างอยู่ต่อไป โดยมักไม่มีการเคลื่อนไหวแขนขา
   
สาเหตุของการเกิดโรคลมชัก เนื่องจากเป็นแผลในสมอง เช่น จากการติดเชื้อในสมอง เกิดอุบัติเหตุกระทบ กระเทือนต่อสมองและมีอาการชักขณะไข้ขึ้นสูงในวัยเด็กที่นานหรือชักติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง สมองขาดออกซิเจนหรือถูกกระทบกระเทือนในระหว่างอยู่ในครรภ์มารดาและแรกคลอด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรมและภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติหรือแตกหรือตีบตัน โรคทางกาย เช่นภาวะเกลือโซเดียม ในร่างกายสูงหรือต่ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ โรคตับ โรคไต การดื่มเหล้า กินยาบ้า เสพยาเสพติดและได้รับสารพิษ
   
โรคลมชักเกิดได้ในทุกช่วงวัย โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากขึ้นมักมีโรคมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โดยในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถิติการเป็นโรคลมชักเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนในเด็กเราสามารถสังเกตได้ด้วยการดูพฤติกรรมด้านการรับรู้ตัว การเรียนแย่ลง นอนหลับปลุกไม่ค่อยตื่น ควรพามาพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะผล จากการชักจะทำให้เซลล์สมองตาย ดังนั้นหากเกิดอาการชักแม้เพียงครั้งเดียวควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคลื่นสมองและรักษา เพราะการชัก 1 ครั้ง ก็สามารถทำลายเซลล์สมองได้ เช่น หากมีเซลล์สมอง 100 จะทำให้ลดลงเหลือ 50 ได้และถ้าชักนาน ๆ หลายครั้งต่อเนื่องกันอาจทำให้เซลล์สมองหายหรือหมดไปเลย
   
โดยมีผู้ป่วยลมชักหลายคนที่มาพบหมอด้วยอาการแปลก ๆ เช่น เห็นภาพหมุน เห็นภาพเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ เห็นแสงจ้าสีสันหลากหลายแตกต่างจากผู้ป่วยโรคไมเกรนที่จะเห็นแสงจ้าขาวดำ หรือบางคนเห็นภาพหลอน หูแว่ว กลัว และหลายคนมาด้วยอาการทางจิตประสาท เพราะถ้าความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมองไปปรากฏที่สมองส่วนควบคุมจิตใจ ก็อาจมีอาการทางจิตใจที่ผิดปกติไป เช่น เดจา วู (Deja vu) ความรู้สึกที่เหมือนคุ้นเคยทั้งที่ไม่เคยรู้จักหรือเข้าไปที่ไหน ก็เหมือนเคยเจอใครมาก่อน ทั้งที่ไม่ใช่ หรือในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เคยคุ้นหรืออยู่บ้าน ตัวเองก็เกิดรู้สึกแปลกไป เช่น เจอแฟนตัวเอง กลับรู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า
   
ขั้นตอนการตรวจรักษานั้นแพทย์จะซักถามประวัติและตรวจร่างกาย ซึ่งการ ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จะช่วยเช็กคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคลมชักได้ สำหรับวิธีการรักษาจะใช้ยาเป็นหลักเพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในสมองให้กลับมาเป็นปกติ แต่เนื่องจากคนไข้โรคลมชักบางกลุ่มมีภาวะดื้อยาอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง ซึ่งมีโอกาส หาย 50-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางโรงพยาบาลกรุงเทพมีบริการตรวจทางกัมมันตรังสีและการตรวจ PET Scanรวมทั้งการตรวจตำแหน่งความจำในสมอง ซึ่งการตรวจเหล่านี้จำเป็นต้องตรวจควบคู่กันเพื่อการกำหนดตำแหน่งสมองบริเวณที่มีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติให้ชัดเจนก่อนทำการผ่าตัดสมอง
   
สำหรับการป้องกันการเกิดโรคลมชักนั้น คุณหมอโยธิน แนะนำว่า ไม่ควรอดนอน อดอาหาร และออกกำลังกายหักโหมมากเกินไปหรือเล่นกิจกรรมเสี่ยง ๆ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด สำหรับสตรีมีครรภ์ก่อนจะใช้ยาควรดูรายละเอียดให้ชัดเจนเสียก่อน
   
โรคลมชัก ถือเป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงลิ่วนั้น ส่วนใหญ่ที่มีการสันนิษฐานกันว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากการหลับในนั้นแท้จริงแล้วก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากอาการชักหรือหลับในกันแน่ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรรับการตรวจเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะสายเกินไป.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น